ชื่อเครื่องยา กระชายดำ ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ได้จาก เหง้า ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กระชายดำ
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) ว่านจังงัง ว่านพญานกยูง ว่านกั้นบัง ว่านกำบัง ว่านกำบังภัย กะแอน ระแอน (ภาคเหนือ) ขิงทราย (มหาสารคาม)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia parviflora Wallich. ex Baker. ชื่อพ้อง K. rubromarginata (S.Q. Tong) R.J. Searle, Stahlianthus rubromarginatus ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา: เหง้ารูปทรงกลม เรียงต่อกัน มักมีขนาดเท่าๆกัน หลายเหง้า อวบน้ำ ผิวเหง้าสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้ม อาจพบรอยที่ผิวเหง้าเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ เนื้อภายในสีม่วงอ่อน ม่วงเข้ม จนถึงสีม่วงดำ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติขมเล็กน้อย ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี ปริมาณน้ำไม่เกิน 10% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 2% w/w ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอล ไม่น้อยกว่า 8% w/w ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 17% w/w (THP III)
สรรพคุณ ตำรายาไทย: ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยและอาการเหนื่อยล้า และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ขับลม เป็นยาอายุวัฒนะ (เชื่อว่าช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศชาย) แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง หรือโขลกกับเหล้าขาวคั้นน้ำดื่ม แก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อน ใช้กวาดคอเด็ก แก้โรคตานซางในเด็ก หรือต้มดื่มแก้โรคตา รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา การใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง และยาอายุวัฒนะ ตามภูมิปัญญาไทย ใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4-5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดองสุราขาวดื่มก่อนรับประทานอาหารเย็น ปริมาณ 30 ซีซี หรือฝานเป็นแว่นบางๆ แช่น้ำดื่ม หรือดองน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1 ใช้เหง้าแห้งดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1 นาน 7 วัน และนำมาดื่มก่อนนอน ข้อควรระวัง การรับประทานติดต่อกันนาน อาจทำให้เหงือกร่น และห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับ และในเด็ก การรับประทานในขนาดสูง ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้ องค์ประกอบทางเคมี เหง้า ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย โดยมี borneol เป็นองค์ประกอบหลัก และยังพบสารกลุ่ม flavonoid, chalcone, anthocyanin เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา ฤทธิ์ต้านอักเสบ: สาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ลดไข้จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ พบว่าสาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีแนน (carrageenan) และคาโอลิน (kaolin) ได้ 16.0-48.0% และ 43.7-80.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin G อย่างมีนัยสำคัญ ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์: สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ –tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4’-tetramethoxyflavone และ 5,7,4’-trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์: สารสกัดกระชายดำด้วยเอทานอล โดยการกรอกสารเข้าสายในกระเพาะอาหาร พบว่าสามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศผู้ของหนูขาวและสุนัขได้ นอกจากนี้การป้อนสารสกัดกระชายดำ ยังมีผลเพิ่มความหนาแน่นของอสุจิ และระดับ testosterone แต่ไม่ทำให้พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลง สำหรับหนูขาวซึ่งได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงขนาด 1,000 มก./กก. น้ำหนักตัว/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถป้องกันภาวะการผสมไข่ไม่ติดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สารสกัดขนาดดังกล่าวมีผลทำให้ตับโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาทางคลินิก: ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา: การศึกษาพิษเรื้อรังระยะเวลา 6 เดือน ของผงกระชายดำในหนูขาว ในขนาด 20, 200, 1000 และ 2000 มก/กก./วัน เทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากลุ่มควบคุม และพบว่าหนูที่ได้รับกระชายดำขนาด 2,000 มก./กก./วัน มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และมีเม็ดเลือดขาวอิโอสิโนฟิลต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ ในหนูเพศเมียที่ได้รับกระชายดำขนาด 2,000 มก./กก./วัน มีระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และทุกกลุ่มไม่พบความเป็นพิษของกระชายดำเมื่อตรวจอวัยวะภายในโดยวิธีทางจุลพยาธิวิทยา อ้างอิงจาก
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=4